ประเพณีวิ่งควาย จังหวัดชลบุรี
ใกล้เข้าสู่เทศกาลออกพรรษา ผ่านพ้นช่วงการไถหว่านของชาวนาที่มีควายไทยเป็นแรงงานหลักในการไถแปลงนาให้ พร้อมสำหรับการเพาะปลูกข้าว เมื่อทำงานหนักเสร็จสิ้นก็ได้เวลาในการพัก แต่ระหว่างที่รอการเก็บเกี่ยวผลผลิต ช่วงนี้เองที่ชาวนาจะได้มีโอกาสนำผลผลิตจากฤดูก่อนหน้ามาค้าขาย แลกเปลี่ยนกันในตลาด บางคนใช้ควายเป็นพาหนะขนของ ยางคนก็แต่งองค์ทรงเครื่องให้ควายของตนสวยงาม จนเมื่อเสร็จสิ้นการพบปะพูดคุย จึงชักชวนกันนำควายของตนมาวิ่งแข่งขันกัน จนกลายเป็นประเพณีที่ปฏิบัติสืบเนื่องมาจวบจนปัจจุบัน
ประเพณีวิ่งควายจัดขึ้นทั่วไปตามชุมชนต่างๆ เริ่มตั้งแต่เขตเทศบาลเมืองชลบุรี จัดขึ้นในวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๑ อำเภอบ้านบึง จัดขึ้นในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ตลาดหนองเขิน อำเภอบ้านบึง จัดขึ้นในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ วัดดอนกลาง ตำบลแสนสุข อำเภอเมือง จัดขึ้นในวันทอดกฐินประจำปีของวัด ซึ่งคุณสามารถเดินทางเข้ามาชมประเพณีนี้ได้ตามช่วงเวลาต่างๆ ซึ่งแต่ละสถานที่ล้วนมากด้วยสีสัน รวมทั้งความตื่นเต้นในการลุ้นว่าใครที่จะเป็นเจ้าแห่งความเร็วของประเพณี วิ่งควาย
ในปัจจุบัน นอกจากชาวบ้านต่างเข้าชิงชัยในสนามแข่งขันประเพณีวิ่งควาย และประดับประดาควายของตนด้วยผ้า และแต่งแต้มสีสันสร้างลวดลายให้สวยงามแล้ว ยังมีกิจกรรมอื่นๆ ที่สร้างความสนุกสนาน และแฝงไปด้วยสาระ เริ่มต้นตรวจดูความแข็งแรงของควายในการประกวดสุขภาพ สร้างขวัญและกำลังใจแก่คนและควายในพิธีสู่ขวัญควายตามแบบพิธีกรรมดั้งเดิม อันเป็นการแสดงถึงความผูกพันระหว่างชาวนาและสัตว์เลี้ยงคู่ใจ ถึงแม้ความสำคัญของควายไทยจะลดบทบาทลงไปมาก แต่ชาวชลบุรีก็ยังสืบสานงานประเพณีวิ่งควายให้คงอยู่จนกลายเป็นเอกลักษณ์อัน โดดเด่น หนึ่งเดียวในประเทศไทย
- วันเวลาการจัดงาน : ตั้งแต่วันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๑ หรือก่อนออกพรรษา ๑ วัน เรื่อยไป
- สถานที่จัดงาน : เทศบาลเมืองชลบุรี, ตลาดหนองเขิน อำเภอบ้านบึง, วัดดอนกลาง ตำบลแสนสุข
อ้างอิง:http://ประเพณีไทยๆ.com/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%93%E0%B8%B5%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A2-%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%AB%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%94/#more-173
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น